''จากบูรพาสู่อุษาคเนย์' บันทึกประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าเล่มนี้ แปลมาจากหนังสือภาษาจีน 'ชีวิตโพ้นทะเล 50 ปี' ผลงานชิ้นเอกของอู๋จี้เยียะ นักหนังสือพิมพ์จีนโพ้นทะเลผู้ลือนามแห่งอุษาคเนย์ เป็นเรื่องราวชีวิตและประสบการณ์ที่ได้พบเห็นของบุรุษชาติอาชาไนยผู้หนึ่งแห่งแผ่นดินจีนตอนใต้ในยุคปลายราชวงศ์ชิง ผู้ใช้ชีวิตอันโลดโผนในดินแดนโพ้นทะเลนานถึง 50 ปีก่อนที่จะจรดปากกาเขียนเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นระหว่างปี 1967-1974
หนังสือเล่มนี้เป็นอัตชีวประวัติและบันทึกความทรงจำของท่านอู๋จี้เยียะ นักหนังสือพิมพ์จีนในเมืองไทยนามอุโฆษเมื่อศตวรรษที่ 20 โดยใช้นามปากกาว่า 'ซานซาน' แบ่งออกเป็น 2 ภาค
ในภาคหลังนี้ ได้สานต่อเรื่องราวจากภาคแรก โดยเริ่มจากผู้ประพันธ์เดินทางกลับมาเป็นนักข่าวที่กรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่งและได้เดินทางไปเยือนมาตุภูมิ ได้พบเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทั้งก่อนและหลังการสถาปนาประเทศจีนใหม่ จากนั้น ท่านได้ร่วมบุกเบิกงานด้านการกีฬาของชาวจีนในเมืองไทยจนเฟื่องฟูขึ้น จนสุดท้าย ท่านต้องเผชิญกับชะตากรรมที่พลิกผัน เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำลาดยาวเกือบ 5 ปีในช่วงที่เมืองไทยปกครองด้วยรัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยข้อหา 'ผู้ต้องสงสัยมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์' หลังจากได้รับอิสรภาพ ท่านก็กลับมายืนอยู่ในหน้าที่นักข่าวตามเดิม ทุ่มเททำงานเพื่อสังคมชาวจีนโพ้นทะเลในเมืองไทยต่อไป แม้จะเข้าสู่วัยชราแล้ว เนื้อหาในหนังสือทั้ง 2 ภาคมีคุณูปการยิ่งในการให้ข้อมูลด้านบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ของสังคมในยุคสมัยนั้น
อัตชีวประวัติของท่านอู๋จี้เยียะ โดดเด่นด้วยความลุ่มลึก คมคาย และไพเราะ ทั้งในเนื้อหาและถ้อยความ ที่ปอกเปลือกชีวิตของลูกกำพร้าแห่งตระกูลบัณฑิต ผู้เติบโตขึ้นเป็นหนุ่มจีนโพ้นทะเลผู้สู้ชีวิตอย่างยิบตาในอาณานิคมอินเดียตะวันออกของดัตช์ สิงคโปร์มลายูของอังกฤษ และในประเทศที่มีความเป็นไทอย่างสยาม
ท่านผู้ประพันธ์ได้ผันตัวเองจากลูกจ้างตัวเล็กๆ ในห้างการค้าใหญ่ที่กรุงปัตตาเวีย (กรุงจาการ์ตา) มาสู่อาชีพนักหนังสือพิมพ์ในช่วงต้นทศวรรษ 1930 เผชิญเคราะห์ภัยมากครั้ง กระทั่งประสบความสำเร็จอย่างสูงในวิชาชีพแห่งอุดมคติของตัวท่าน ผู้ถือว่าวิชาชีพนักข่าวนักหนังสือพิมพ์นั้น เป็น 'ราชาผู้ไร้มงกุฎ' อันสูงส่ง ประสบการณ์และข้อสังเกตที่ท่านอู๋จี้เยียะได้ให้ไว้แก่ชีวิต สังคม และยุคสมัยที่ท่านมีชีวิตโลดแล่นอยู่นั้น ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างสูงในฐานะคำบอกเล่าตรงชั้นแรกของปัญญาชนชาวจีนโพ้นทะเลแห่งดินแดนอุษาคเนย์ที่มีอยู่น้อยคนยิ่ง ทั้งมีมาตรฐานในเชิง ‘วรรณกรรมอัตชีวประวัติ’ ด้วยฝีมือการเขียนชั้นครูผู้มีเรื่องเล่าอย่างมากมาย รสชาติแห่งวรรณศิลป์ เนื้อหาความรู้ และประสบการณ์ชีวิตต่างๆ ที่ท่านได้จดจารบันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของท่านที่หาไม่ได้ในหนังสืออื่นใด
คุณค่าของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้อยู่เพียงที่เนื้อหาอันครอบคลุมถึงประวัติศาสตร์ยุคใกล้ของประเทสจีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อศตวรรษที่แล้ว โดยเฉพาะสังคมชาวจีนและวงการหนังสือพิมพ์จีนในเมืองไทย ที่สำคัญท่านยังเป็นตัวอย่างของบุคคลที่ต่อสู้บากบั่นจากเด็กยากจนที่มีโอกาสเรียนหนังสือแค่ชั้นประถม แต่ด้วยการฝึกฝนเรียนรู้ด้วยตนเอง จนกลายเป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ และนักเขียนผู้มีชื่อเสียงของชุมชนชาวจีนในเมืองไทย จึงกล่าวได้ว่า นี่เป็นหนังสือบันทึกความทรงจำที่มีคุณค่ายิ่ง ได้ครบรสทั้งความสนุกสนาน ขำขัน โศกเศร้า ตื่นเต้น จนไปถึงโรแมนติก นับได้ว่าเป็นงานที่รุ่มรวยทางอารมณ์ไม่แพ้สาระความรู้และความบันเทิง ให้แง่คิดในการใช้ชีวิต อ่านสนุกชวนติดตาม